Thailand 4.0 ฉบับย่อ by ResearchJung

          ในปี 2559 รัฐบาลได้ประกาศให้ประเทศไทยมุ่งสู่การเป็น Thailand 4.0 อย่างสุดกำลัง โดยต้องพัฒนาคนและงานวิจัยเชิงสร้างสรรค์เพื่อผลักดันประเทศให้เข้าสู่ประเทศมีรายได้สูงภายในปี 2560 ให้จงได้ ลองมาดูกันสักนิดว่า ...

Thailand 4.0 คือ อะไร 

          ประเทศไทยผ่านการเป็น Thailand 1.0 คือ ประเทศพัฒนาเศรษฐกิจด้วยการเกษตรเป็นหลัก
ต่อมา ประเทศไทยเข้าสู่การเป็น Thailand 2.0 คือ สร้างรายได้ในประเทศด้วยอุตสาหกรรมเบา (ใช้เกณฑ์ตามลักษณะผลิตภัณฑ์) เช่น ทอผ้า ผลิตกระดาษ ฯลฯ
และได้พัฒนาประเทศเป็น Thailand 3.0 คือ การเน้นอุตสาหกรรมหนัก เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ การทำเหล็กเส้น ฯลฯ


ภาพที่ 1 การพัฒนาประเทศไทยจาก 1.0 จนถึง 4.0
(อ้างอิงจาก https://www.thailand-business-news.com/economics/54286-thailand-4-0-need-know.html)

           อย่างไรก็ตาม การพัฒนาประเทศต้องมาชะลอตัวเอาในช่วงหลัง Thailand 3.0 เพราะเกิดภาวะที่เรียกว่า กับดักรายได้ปานกลาง (Middle income trap) ถ้ายังจำได้ประเทศไทยเคยประกาศเป็นเสือตัวที่ 5 ทางเศรษฐกิจในเอเชีย แต่เราไปไม่ถึงเป้าที่ตั้งไว้ ด้วยภาวะติดกับดักรายได้ปานกลางนี้เอง เรามาทำความรู้จัก กับดักรายได้ปานกลาง กันสักนิด ก่อนจะพูดถึง Thailand 4.0 ต่อว่ามันคืออะไร  


ภาพที่ 2 ประเทศไทยติดกับดักรายได้ปานกลาง

            ประเทศต่างๆในโลกนี้ถูกจัดแบ่งตามรายได้ประชาชาติต่อหัวต่อปีได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มรายได้ระดับล่าง กลุ่มรายได้ปานกลาง และกลุ่มรายได้สูง ประเทศไทยได้รับการจัดอยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลางในปี 2555 แต่ประเทศไทยไปไม่ถึงกลุ่มประเทศรายได้สูง เนื่องจากปัจจัยการเมือง ปัจจัยคุณภาพคน และปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย สถานการณ์แบบนี้เรียกว่า การติดกับดักรายได้ปานกลาง หรือ Middle income trap นั่นเอง

           ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงสร้างกลยุทธ์ให้ประเทศไทยหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง เพื่อไปให้ถึง Thailand 4.0 

          Thailand 4.0 คือ การสร้างนวัตกรรมและการเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมในช่วง 1.0, 2.0 และ 3.0 ผ่านความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างชาญฉลาด  โดยนวัตกรรมในที่นี้ไม่ได้กินความเฉพาะอุปกรณ์ เครื่องมือ เทคโนโลยี ที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้แต่เพียงเท่านั้น ยังรวมถึงแนวคิด โมเดลสร้างสรรค์ใหม่ๆ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ ด้วย

          กลยุทธ์สำคัญที่ดำเนินการไปแล้ว เช่น การมอบนโยบายให้แก่สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2559 อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ http://www.moe.go.th/websm/2016/sep/385.html
           
          สรุปใจความหลักของกลยุทธ์นี้ได้ว่า สถาบันการศึกษาทั่วประเทศไทยจะต้องพัฒนา 2 เรื่องหลัก คือ คุณภาพคน และ งานวิจัย (จริงๆ ไม่ใช่แต่สถาบันการศึกษา ภาคธุรกิจ ภาคเอกชน ฯลฯ ต้องทำแบบเดียวกันนี้ด้วย)



  


ภาพที่ 3 แนวทางพัฒนาประเทศไทยให้ไปถึง 4.0
(อ้างอิงจาก http://www.moe.go.th/websm/2016/sep/385.html)


           จากภาพที่ 3  มหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาอื่นๆจะต้อง พัฒนาคุณภาพคน ผ่านการศึกษา รวมถึง พัฒนาองค์ความรู้และสร้างนวัตกรรมที่ใช้งานได้ (เช่น เครื่องไถประหยัดพลังงาน เครื่องช่วยฟังสำหรับคนพิการ ฯลฯ) ผ่านกระบวนการวิจัยและพัฒนา (Research and Development or R&D) ทั้งหมดนี้จะเป็นรากฐานสำคัญในการผลักดันประเทศให้มีสังคมแบบ 4.0 และมีรายได้เข้าประเทศมากขึ้นจนกระทั่งประเทศไทยสามารถเข้าไปยืนในกลุ่มประเทศรายได้สูงได้ในที่สุด
           

คำตอบสำหรับทุกเรื่องในประเทศไทยตอนนี้ คือ การศึกษาและงานวิจัย
            
            มีประเด็นต่างๆที่จะเสริมการเป็น Thailand 4.0 ได้ เช่น

            1. นโยบายการศึกษาที่ต้องนิ่งมากขึ้น เนื่องจากภายใน 15 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษามาแล้ว 16 คน เฉลี่ยคนละ 10 เดือน การดำเนินนโยบายการศึกษาจึงค่อนข้างเห็นเป็นรูปธรรมได้ยาก ยังไม่ทันได้วัดผลการดำเนินนโยบายก็ต้องเปลี่ย่นเป็นนโยบายใหม่อีกหลายรอบ ส่งผลทำให้คนปฏิบัติงานเกิดความงงงวยในที่สุด (ไม่ต้องพูดถึงนักเรียนซึ่งเป็นอนาคตของชาติเลยว่าจะงงมากกว่ากี่เท่า)
            
             2. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีโครงการให้มหาวิทยาลัยร่วมมือกับเอกชน ให้อาจารย์มหาวิทยาลัยเข้าไปทำงานในบริษัทโดยนับเป็นภาระงาน เนื่องจากรัฐบาลคงเล็งเห็นปัญหาว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยต้องพัฒนาตัวเองให้ทันภาคเอกชนที่ก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว เพื่อจะได้กลับมาสอนนักเรียนให้ตอบโจทย์ภาคเอกชนมากขึ้น 
                 อาจารย์มหาวิทยาลัยไม่เคยรู้ หรือ ไม่เคยสนใจว่าภาคเอกชน หรือ ตลาด ซึ่งเรามักเรียกว่า 'โลกภายนอกมหาวิทยาลัย' ต้องการคนแบบใด ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง 
                 หากอาจารย์มีประสบการณ์และเข้าใจภาคเอกชน จะสามารถผสมผสานองค์ความรู้ที่มีกับการปฏิบัติงานในชีวิตจริง แล้วมาพัฒนานักเรียนต่อได้อย่างตอบสนองตลาดมากขึ้น ประเทศไทยจะพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็วกว่านี้

            3. การผลักดันให้คนเก่งและดีมาเป็นครู คนเก่ง คือ คิดสร้างสรรค์ คิดพัฒนา รวมถึงต้องเป็นคนที่รู้ว่าอะไรควรคิดไม่ควรคิด อะไรควรทำไม่ควรทำ เพราะเรื่องใหญ่ที่ต้องพัฒนาอันดับแรกตอนนี้ คือ ครูที่คิดเป็นและทำเป็น (โดยเฉพาะอาจารย์ในมหาวิทยาลัยซึ่งต้องยอมรับความจริงว่าจะมีอีโก้สูง คนมีอีโก้สูงจะฟังคนอื่นน้อย โอกาสพัฒนาตนเองออกนอกกรอบก็น้อยตามไปด้วย ส่งผลถึงนักเรียนอย่างมาก)

            4. การสร้าง career path และค่าตอบแทนของอาชีพนักวิจัยให้ชัดเจน 

            5. ขณะนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการผลักดันงานวิจัยที่เป็นบูรณาการทั้งในศาสตร์เดียวกัน และข้ามศาสตร์ รวมถึงงานวิจัยที่ร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อจะได้นำผลการวิจัยไปสร้างงาน สร้างนวัตกรรมและเศรษฐกิจได้จริง โดยมีเป้าหมายวิจัยและนวัตกรรม ดังนี้

            เป้าหมายงานวิจัยและนวัตกรรมปัจจุบันมี 4 เป้าหมาย 
            เป้าหมายที่ 1 วิจัยและนวัตกรรมในอุสาหกรรมยุทธศาสตร์และเป้าหมายของประเทศ เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ท่องเที่ยว แปรรูปอาหาร การบิน หุ่นยนต์ โลจิสติกส์ เป็นต้น

            เป้าหมายที่ 2 วิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม ชุมชน ความมั่นคง และคุณภาพชีวิต เช่น ดาวเทียม เทคโนโลยีอวกาศ สมุนไพรไทย ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

            เป้าหมายที่ 3 วิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างองค์ความรู้ที่มีศักยภาพ เช่น เกษตร วิทยาศาสตร์การแพทย์ วิศวกรรมและเทคโนโลยี สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ฯลฯ

            เป้าหมายที่ 4 พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยเอื่้อสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม เช่น มาตรฐานความปลอดภัยห้อง lab ทุนการศึกษา การพัฒนาอาชีพนักวิจัยและนวัตกรรม วิจัยในสัตว์ทดลอง จริยธรรมด้านต่างๆ เป็นอาทิ    
       
            อีกประเด็นหนึ่งที่น่าจะช่วยประเทศไทยได้ คือ การรับคนเกษียณอายุจากบริษัทมาช่วยสอนในมหาวิทยาลัย 
            เนื่องจากผู้เขียนมีเพื่อนๆทำงานในบริษัทหลายคน ทุกคนบ่นเรื่องคุณภาพบัณฑิต (รวมถึงบ่นเรื่องคุณภาพครูด้วย) ผู้เขียนฟังจนหูแทบดับ (แต่ต้องยอมรับความจริง) จึงอยากเสนอว่า เมื่อผู้บริหารบริษัทต่างๆเกษียณอายุแล้ว ควรจะมีโครงการรับคนกลุ่มนี้มาสอนในมหาวิทยาลัย ไม่ต้องสอนเต็มตัว แต่ให้สอนบางชั่วโมงร่วมกับนักวิชาการ เชื่อว่ากลุ่มนี้จะเป็นอีกแรงหนึ่งที่ทำให้การศึกษา วิจัย และสร้างนวัตกรรม พัฒนาไปได้ไกลมากยิ่งขึ้น

           ที่พูดมาทั้งหมดข้างต้นอยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า ทุกคนต้องการพัฒนาตนเอง ไม่ว่าจะเป็นครู นักเรียน ผู้บริหารบริษัท ฯลฯ และเชื่อด้วยว่าทุกคนรักประเทศไทย อยากมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศไทยด้วยกันทั้งนั้น



ขอบคุณที่ติดตามค่ะ แล้วพบกันในตอนต่อไปนะคะ
           

No comments:

Post a Comment