ภาษาศาสตร์ เค้าเรียนอะไรกัน



ตอนที่ 1 :
นักภาษาศาสตร์ คือ ใคร

        นักภาษาศาสตร์ไม่ใช่คนเรียนภาษาอังกฤษ ไม่ใช่คนเรียนภาษาญี่ปุ่น ไม่ใช่คนเรียนภาษาจีน หรือภาษาต่างประเทศอื่นๆ

        คำถามที่คนเรียนภาษาศาสตร์จะต้องถูกถามอย่างแน่นอน (ถ้าคิดจะเรียนภาษาศาสตร์ให้เตรียมตอบคำถามนี้ไว้เลย) คือ เรียนภาษาศาสตร์ เรียนภาษาอะไร ภาษาไทย หรือ ภาษาอังกฤษ?” 

       คำตอบ คือ "ภาษาศาสตร์ไม่ใช่การเรียนภาษาไทย หรือ ภาษาอังกฤษ ภาษาศาสตร์เป็นการเรียนทฤษฎีเกี่ยวกับภาษา การวิเคราะห์โครงสร้างทางภาษาด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะสามารถเอาวิธีวิเคราะห์นี้ไปวิเคราะห์ภาษาได้ทุกภาษาบนโลกนี้ โดยที่เราไม่ต้องพูดภาษานั้นได้ก็
ได้"

        เมื่อเร็วๆนี้บน facebook ได้แชร์ข้อความว่า
         
        สิ่งที่คนทั่วไปเห็นในประโยคภาษาอังกฤษ คือ The child can kick a football.
         
        แต่สิ่งที่นักภาษาศาสตร์เห็น คือ 

           

         ภาพที่ 1 โครงสร้างประโยคที่วาดด้วยแผนภูมิต้นไม้ (Tree diagram)
         
         นักภาษาศาสตร์จะเห็นประโยคเดียวกันนี้ เป็นโครงสร้าง ประกอบด้วย ภาคประธาน (NP) กับ ภาคแสดง (VP) NP คือ Noun Phrase และ VP คือ Verb Phrase 

         ดังนั้น นักภาษาศาสตร์ จึงเป็นเหมือนนักผ่าตัดภาษา ดูโครงสร้างภาษา มากกว่าจะเป็นนักภาษา หรือ ผู้ใช้ภาษาทั่วไป

         นักภาษาศาสตร์จะต้องเข้าใจก่อนว่า ภาษามีโครงสร้างเหมือนร่างกายมนุษย์ ร่างกายมนุษย์ประกอบด้วยหน่วยเล็กๆรวมกันเป็นหน่วยใหญ่ เช่น เซลล์เป็นหน่วยเล็กๆ รวมกันเป็นหน่วยที่ใหญ่ขึ้น ได้แก่ เลือด เนื้อ ร่างกายคน 
         
         ภาษาก็เช่นกัน ภาษามีหน่วยที่เล็กที่สุดเรียกว่า เสียง (Sound) เสียงแต่ละเสียงรวมกันเป็นหน่วยที่ใหญ่ขึ้นได้เป็น คำ (Word) ตัวอย่างเช่น เสียง เคอะ [k] รวมกับ เสียง อา [a] เป็นคำว่า car คำรวมกันเป็นหน่วยที่ใหญ่ขึ้นไปอีก ได้แก่ ประโยค (Sentence) เช่น car รวมกับ I และ have เป็น I have a car.

         นักภาษาศาสตร์จะวิเคราะห์โครงสร้างภาษาตั้งแต่ระดับเสียง (Phonetics and Phonology) ระดับคำ (Morphology) ระดับประโยค (Syntax ดังตัวอย่าง Tree diagram ข้างต้น) ระดับความหมาย (Semantics and Pragmatics) และระดับสัมพันธสาร (Discourse พูดเป็นภาษาธรรมดาคงเป็นระดับใหญ่กว่าประโยค ได้แก่ ข้อความในย่อหน้า) ด้วยแนวคิด ทฤษฎี และหลักการทางภาษาศาสตร์และหลักการทางวิทยาศาสตร์ 

         ลองดูอีกสักหนึ่งตัวอย่าง

         ในระดับเสียง นักภาษาศาสตร์จะศึกษาอวัยวะในการออกเสียง (Articulators) ว่ามีอวัยวะใดเกี่ยวข้องกับการผลิตเสียงพูดบ้าง (Speech production) เช่น มีเส้นเสียงในกล่องเสียง มีลิ้น มีช่องปาก มีเพดานแข็ง และอวัยวะใดขยับขึ้นลงบ้าง 
         การออกเสียง เอฟ [f] นักสัทศาสตร์จะบอกได้ว่า ริมฝีปากล่าง (Lower lip) จะขยับไปหาฟันบน (Upper teeth) มีชื่อเรียกเสียงที่ริมฝีปากล่างขยับหาฟันบนว่า Labio-dental 
ภาพที่ 2 อวัยวะที่ใช้ออกเสียง [f]

         เสียงที่มนุษย์สามารถผลิตได้นี้จับต้องได้ในทางวิทยาศาสตร์ เราสามารถบันทึกเสียงพูดลงในคอมพิวเตอร์แล้วดูคลื่นเสียงได้ คลื่นเสียงแต่ละคนจะมีลักษณะแตกต่างกันไปตามอวัยวะหรือสรีระที่มีมาแต่กำเนิด เพราะคลื่นเสียงมาจากการสั่นของเส้นเสียงในกล่องเสียง (แถวๆลูกกระเดือก) นั่นเอง


ภาพที่ 3 คลื่นเสียง

        
นักภาษาศาสตร์จึงเป็นคนวิเคราะห์ภาษาด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์และทฤษฎี 

คำถามต่อไป คือ เรียนไปแล้วมีประโยชน์อะไร เอาไปใช้ประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง?

รอติดตามตอนต่อไปนะคะ 

1 comment:

  1. คือหนุครูให้ทำรายงานเรื่องแผนผังต้นไม้ภษาศาสตร์อ่ะค่ะแล้วที่นี้หนูหาหลยเว็บเจอแต่เป็นบทอธิบายเฉยไม่เกี่ยวกับภาษาศาสตร์ทำยังไงดีค่ะ

    ReplyDelete