เรียนภาษาศาสตร์จบแล้ว เค้าไปทำงานอะไรกัน

ตอนที่ 2 :
เรียนภาษาศาสตร์จบแล้วไปทำงานอะไรได้บ้าง
      
        ภาษาศาสตร์มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Linguistics  เป็นการศึกษาภาษาด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ มีการนำปรากฏการณ์ทางภาษาต่างๆมาวิเคราะห์และพิสูจน์ด้วยทฤษฎีหรือวิธีการที่เป็นระบบ เช่น วิเคราะห์การพูดของเซลส์ขายของว่ามีกลวิธีโน้มน้าวใจให้ลูกค้าซื้อได้อย่างไร  การวิเคราะห์คำศัพท์ที่ปรากฏมากที่สุดไปถึงน้อยที่สุดในสาขาธุรกิจ ซึ่งมีประโยชน์ต่อการนำคำที่พบว่าถูกใช้มากที่สุดในธุรกิจไปสร้างคอร์สอบรมการใช้ภาษาธุรกิจ หรือ สร้างแบบฝึกหัดภาษาอังกฤษเพื่อธุรกิจ 

        นักภาษาศาสตร์สามารถนำความรู้ไปตั้งชื่อแบรนด์สินค้า ดังที่ อาจารย์ ดร.ศุจิณัฐ จิตวิริยนนท์ ได้โพสต์ใน fb ดังภาพ

        หรือ ไปเป็นนักตั้งชื่อหนัง เช่น ต่อติดตาย (ใช้วิธีการเล่นคำแบบใช้เสียงพยัญชนะต้นซ้ำ เพื่อให้ติดหูผู้ฟัง)

        หรือ ไปทำงานในกรมตำรวจ ช่วยจับผู้ร้าย  คลื่นเสียงของคนแต่ละคนไม่ซ้ำกัน เมื่อมีโจรโทรเรียกค่าไถ่ เราสามารถนำเสียงโจรมาวัดคลื่นเสียง เพื่อหาตัวผู้ร้ายได้ (Voice print คู่กับการพิมพ์ลายนิ้วมือ คือ Finger print) ศาสตร์นี้เราเรียกว่า นิติสัทศาสตร์ หรือ Forensic Phonetics หรือ สามารถตรวจจากลายเซ็นต์ ลายมือ ว่ามีการปลอมลายมือหรือไม่ก็ได้ 

        หรือ นักภาษาศาสตร์สามารถทำงานเป็นนักวิจัยพิสูจน์ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของภาษาไทย ดังเช่น พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชการที่ 9 ซึ่งแสดงพระอัจฉริยภาพในการสังเกตการเปลี่ยนแปลงของภาษาไทย (สมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย, 2559) ดังนี้

       “นอกจากนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงของวรรณยุกต์. เสียงจะสูงขึ้นไปเรื่อย เสียงโทกลายเป็นเสียงตรี เสียงตรีจะกลายเป็นเสียงจัตวา เลยทำให้ฟังดูแปลก...ได้เคยพูดกับศาสตราจารย์ชาวสวีเดนซึ่งเขามีความรู้ในด้านภาษาศาสตร์ ...ตกลงว่าได้มาจากหลายอย่าง จากการฟังภาษาต่างประเทศ แล้วก็อยากจะพูดแบบชาวต่างประเทศ จนติดตัว ข้อหนึ่ง. แต่อาจจะเป็นมาจากความเปลี่ยนแปลงของอวัยวะสำหรับเปล่งเสียง เพราะมีสายเลือดต่างประเทศ. คนที่มีเชื้อชาติต่างกัน จะมีสำเนียงต่างกัน.”


พระราชดำรัส พระราชทานแก่พสกนิกรที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท 
ณ ศาลาดุสิดาลัย ๔ ธันวาคม ๒๕๓๕,


        ต่อมามีงานวิจัยทางภาษาศาสตร์พบว่า เสียงวรรณยุกต์ตรีเปลี่ยนไปเหมือนเสียงวรรณยุกต์จัตวา
     
(อ้างอิงจาก Tingsabadh and Deeprasert, 1997)

        เมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา เสียงวรรณยุกต์ตรี หรือ high tone มีลักษณะเป็นเส้นตรงเฉียงขึ้น ส่วนเสียงวรรยุกต์จัตวา หรือ rising tone มีลักษณะเป็นเส้นโค้งขึ้น แต่ปัจจุบันนี้เสียงวรรณยุกต์ตรีกลับมีลักษณะโค้งขึ้นไปคล้ายกับเสียงวรณยุกต์จัตวาจริง
        > 
(อ้างอิงจาก วิไลลักษณ์ จูวะราหะวงศ์, 2544)

         นี่เป็นหนึ่งตัวอย่างของการวิจัยภาษาด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ ภาษาศาสตร์แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเสียงวรรณยุกต์ที่เป็นรูปธรรม เสียงวรรณยุกต์สามารถจับต้องได้ดังภาพทั้งสองข้างบน 


         เสียง คา ข่า ค่า ค้า ขา ที่เราผันกันอยู่ทุกวันสามารถนำมาเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อวัดค่าความถี่มูลฐาน (เฮิรต์ซ) ซึ่งค่าความถี่มูลฐานที่วัดได้นี้สะท้อนถึงการสั่นของเส้นเสียงภายใน 1 วินาที

         ภาษาศาสตร์เป็นศาสตร์ที่สนุก มีอะไรใหม่ๆให้ค้นพบ และยังสามารถนำไปบูรณาการกับศาสตร์อื่นๆได้อีกมากมาย  รวมถึงนำไปสร้างนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ได้อีกหลากหลาย  

         หรือ ไปทำงานในหน่วยงานธนาคาร อยู่ฝ่ายวิจัย เนื่องจากนักภาษาศาสตร์จะได้รับการฝึกฝนวิธีวิเคราะห์และเชื่อมโยงเรื่องต่างๆ อยู่เป็นประจำอยู่แล้วจึงเหมาะกับการทำงานในบริษัทที่มีฝ่ายวิจัยอย่างมาก มีรุ่นน้อง อ เอ หลายคนไปอยู่ฝ่ายวิจัยธนาคารใหญ่ๆ

         หรือ ไปเป็นแอร์โฮสเตส เพราะคนเรียนภาษาศาสตร์จะแตกต่างจากคนใช้ภาษาเป็นและใช้ภาษาเก่งตรงที่ คนเรียนภาษาศาสตร์จะถูกฝึกให้มีทักษะการเชื่อมโยงศาสตร์ต่างๆเข้าด้วยกัน วิเคราะห์ สังเคราะห์เป็น ทำให้สามารถบริหารงาน จัดการงานได้ เรียงลำดับความสำคัญงานที่ควรทำก่อนหลังได้ ทำให้เกิดความโดดเด่นในการทำงานในสายอาชีพบริการ มีโอกาสได้รับการเลื่อนตำแหน่งสูง ซึ่งรุ่นน้อง อ เอ หลายคนที่เป็นแอร์โฮสเตส ก็ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็น Air Purser (ทำหน้าที่คล้ายๆผู้จัดการ) ในเวลารวดเร็ว

         หรือ เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย (ซึ่งเป็นอาชีพหลักของนักภาษาศาสตร์) สอนวิชาทางภาษาศาสตร์ เช่น Phonetics, Semantics, Syntax ฯลฯ ซึ่งเป็น requirement สำคัญสำหรับการเรียนสาขาภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาฝรั่งเศส ในมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงในการเรียนต่อระดับปริญญาโท เอก ในมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ หากใน transcript ปรากฏรายวิชาทางภาษาศาสตร์เหล่านี้จะทำให้การเข้าศึกษาต่อง่ายขึ้น  

        และเป็นที่น่าสนใจว่านักภาษาศาสตร์หลายท่านที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยจะได้เลื่อนขึ้นไปทำตำแหน่งบริหารภายในเวลารวดเร็วเช่นกัน

รายการอ้างอิง 
วิไลลักษณ์ จูวราหะวงศ์. 2544. วรรณยุกต์ในภาษาไทยที่พูดโดยคนไทย คนแต้จิ๋ว และคนซิกส์. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิตภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 

สมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย. 2559. Retrieved from http://bangkokideaeasy.com/informations/attt/index.php?op=dynamiccontent_detail&dynamiccontent_id=10948, 25 ธันวาคม 2559.

Tingsabadh, K. and D. Deeprasert. 1997. Tones in Standard Thai connected speech. In Arthur Abramson (ed.). Southeast Asian Linguistics Studies in Honour of Vichin Panupong. Bangkok: Chulalongkorn University Press, 297-370. 


รายการอ่านเพิ่มเติม
Teeranon, P. 2007. The change of standard Thai high tone: an acoustic study and a perceptual experiment. SKASE Journal of Theoretical Linguistics [online] 4.3, 1-17 

Teeranon, P. and R. Rungrojsuwan. 2010. The change of standard Thai high tone: an acoustic study. MANUSYA: Journal of Humanities, Special Issue 17: Studies in Linguistics: Phonology, Syntax, Pragmatics, 13-26

No comments:

Post a Comment