Friday, May 12, 2017

ResearchJung: แจกหัวข้อวิจัย วันที่ 1: เตรียมรับ THAILAND 5.0 6....

ResearchJung: แจกหัวข้อวิจัย วันที่ 1: เตรียมรับ THAILAND 5.0 6....:            ประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หมายถึง ประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปี ขึ้นไปเกิน 10% (ตามนิยามขององค์การสหประชาชาติ)           ...

แจกหัวข้อวิจัย วันที่ 1: เตรียมรับ THAILAND 5.0 6.0 หรือ 7.0...

           ประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หมายถึง ประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปี ขึ้นไปเกิน 10% (ตามนิยามขององค์การสหประชาชาติ) 
           
            หากดูจากภาพสัดส่วนประชากรอายุ 15 ปี และอายุ 60 ปีขึ้นไป ของประเทศไทย (ปี 2010-2040) ซึ่งจัดทำโดยมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ จะเห็นว่า 

           "ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปี 2010 หรือ อาจจะก่อนหน้านั้น" 
           
           ประเด็น "สังคมผู้สูงอายุ" จึงเป็นวาระแห่งชาติ ที่กล่าวเช่นนี้เนื่องจากรัฐบาลตระหนักถึงความท้าทายเรื่องจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดทุกปี ดังจะเห็นจากภาพข้างต้นว่าในปี 2018 หรือ พ.ศ.2561 จะเป็นปีแรกที่ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุมากกว่าเด็ก
           
           นอกจากนั้น ที่กล่าวว่าประเด็นผู้สูงอายุเป็นวาระแห่งชาติเนื่องจากทุนวิจัยจากแหล่งทุนใหญ่ๆ กำหนดให้ประเด็นผู้สูงอายุเป็นประเด็นที่ต้องได้รับการวิจัยอย่างเร่งด่วน เช่น ทุนวิจัยของ ทปอ. (ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย) มีโครงการสนับสนุนภายใต้โครงการ Innovation Hubs มีการเปิดรับข้อเสนอในแต่ละด้านดังนี้
            1. ด้านอาหารและการเกษตร (Innovation Hubs -food and agriculture) 
            2. ด้านสังคมผู้สูงอายุ (Innovation Hubs - ageing society)
            3.ด้านนวัตกรรมพลังงานชีวภาพ (nnovation Hubs - Bioenergy)
            4. ด้านเมืองอัจฉริยะ (nnovation Hubs - Smart city)

            หรือ ทุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จะมีประเด็นสังคมผู้สูงอายุ เป็นหนึ่งในประเด็นสำหรับให้ทุนวิจัย เช่นกัน

           ผู้เขียนได้ลองค้นคว้างานวิจัยเกี่ยวกับสังคมผู้สูงอายุ พบว่า ส่วนมาก งานวิจัยด้านสังคมผู้สูงอายุที่มีผู้ศึกษาไว้จะเป็น  เชิงนโยบายด้านสวัสดิการผู้สูงอายุ การจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ผู้สูงอายุ และ  การสร้างอุปกรณ์ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุ แต่ที่ยังไม่ค่อยพบ คือ การบูรณาการด้านภาษาเข้ากับสังคมผู้สูงอายุ 

           และถ้าเราพิจารณาจากสถิติแล้ว จะพบว่า จำนวนเด็กค่อยๆลดลง โดยเด็กที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยในปี 2017 ลดลงจากปีก่อนถึง 20% ในขณะที่จำนวนผู้สูงอายุกำลังจะเพิ่มขึ้นจาก 10% ในปี 2010 เป็น กว่า 20% ในปี 2018 

           ดังนั้น หากเรามองสังคมในอนาคต หรือ สังคมหลัง THAILAND 4.0 (ที่เน้นการสร้างนวัตกรรม) สังคมผู้สูงอายุที่มีคุณภาพคงต้องเกิดขึ้นในช่วง THAILAND 5.0 หรือ THAILAND 6.0  และสังคมนี้จะมาถึงเร็วกว่าที่นักวิชาการได้คาดการณ์ไว้แน่นอน

           สรุปประเด็นเกี่ยวกับงานวิจัยวันนี้ คือ 
           "สาขาภาษาจะเข้าไปมีส่วนช่วยสร้างสังคมผู้สูงอายุที่มีคุณภาพได้อย่างไร"   
           "สาขาสังคมศาสตร์จะเข้าไปมีส่วนช่วยสร้างสังคมผู้สูงอายุที่มีคุณภาพให้กับประเทศไทยอย่างไร"


          นิสิต นักศึกษา หรือ นักวิจัยที่สนใจ ลองนำไปคิดต่อนะคะ น่าทำให้ได้งานวิจัยที่มี originality สูง ชิ้นหนึ่งเลย 

          และแน่นอนว่าผู้ที่จะได้ใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยเกี่ยวกับสังคมผู้สูงอายุ คือ พวกเรา  นั่นเอง

Wednesday, February 15, 2017

ผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบ ต่างกันหรือไม่




ผลผลิต ผลลัพธ์ และ ผลกระทบ ต่างกันหรือไม่

 ผลผลิต หรือ output ผลลัพธ์ หรือ outcome และ ผลกระทบ หรือ impact มีความแตกต่างกัน ในการเขียนขอทุนจากแหล่งทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ นักวิจัยจะต้องระบุทั้ง ผลผลิต  ผลลัพธ์  และผลกระทบ

ผลผลิต คือ ผลที่เกิดขึ้นโดยตรงจากงานวิจัยของเรา เช่น ได้บทความวิจัยตีพิมพ์ ได้ทฤษฎีใหม่ ได้นิทานสองภาษา ได้เทคโนโลยีสมาร์ตโฟน ฯลฯ
ผลลัพธ์ คือ ผลที่เกิดขึ้นต่อยอดจากผลผลิต
ผลกระทบ คือ ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากผลผลิตและผลลัพธ์ทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

ตาราง ตัวอย่างผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบ
ผลผลิต
ผลลัพธ์
ผลกระทบ
ทฤษฎีทรัพยากรมนุษย์แบบใหม่
บริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยนำทฤษฎีใหม่ไปใช้บริหารคนในองค์กร
พนักงานไทยที่ทำงานในบริษัทญี่ปุ่นพัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีมจนสามารถขายสินค้าได้มากขึ้น 50%
นิทานสองภาษา
คือ นิทานสามารถพัฒนาผู้เรียนให้อ่านภาษาอังกฤษได้คล่องและมีความเข้าใจเนื้อหานิทาน
กระทรวงศึกษาธิการปรับเปลี่ยนหลักสูตรสอนภาษาอังกฤษทั่วประเทศให้เป็นการสอนภาษาผ่านนิทาน
เทคโนโลยีสมาร์ตโฟน
เทคโนโลยีไปสร้างต้นแบบสมาร์ตโฟน
บริษัทที่นำสมาร์ตโฟน ไปผลิตขายจนสร้างสัดส่วนการตลาดได้เพิ่มขึ้น 10%

ตารางข้างต้น เป็นวิธีเขียนผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบให้สัมพันธ์กัน
ผลผลิต คือ ทฤษฎีทรัพยากรมนุษย์แบบใหม่ ผลลัพธ์ คือ บริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยนำทฤษฎีใหม่ไปใช้บริหารคนในองค์กร ผลกระทบ คือ พนักงานไทยที่ทำงานในบริษัทญี่ปุ่นพัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีมจนสามารถขายสินค้าได้มากขึ้น 50%
ผลผลิต คือ นิทานสองภาษา ผลลัพธ์ คือ นิทานสามารถพัฒนาผู้เรียนให้อ่านภาษาอังกฤษได้คล่องและมีความเข้าใจเนื้อหานิทาน  ผลกระทบ คือ กระทรวงศึกษาธิการปรับเปลี่ยนหลักสูตรสอนภาษาอังกฤษทั่วประเทศให้เป็นการสอนภาษาผ่านนิทาน
ผลผลิต คือ เทคโนโลยีสมาร์ตโฟน ผลลัพธ์ คือ นำเทคโนโลยีไปสร้างต้นแบบสมาร์ตโฟนผลกระทบ คือ บริษัทที่นำสมาร์ตโฟน ไปผลิตขายจนสร้างสัดส่วนการตลาดได้เพิ่มขึ้น 10%


ผลผลิต แตกต่างจาก ผลลัพธ์ และ
ทำให้เกิดผลกระทบอันยิ่งใหญ่


Monday, January 16, 2017

กรอบแนวคิดในงานวิจัยนั้นสำคัญไฉน (Conceptual framework)

                

                เมื่อปีที่แล้ว (.. 2559) มีลูกศิษย์ที่ทำวิจัยระดับปริญญาตรีในโครงการนักวิจัยน้อยถามขึ้นมาระหว่างการทำอบรมเชิงปฏิบัติการวิจัยว่า ทำไมเราต้องเขียนกรอบแนวคิดในการวิจัยด้วย จึงได้ตอบลูกศิษย์ไปว่า กรอบแนวคิดในการวิจัยเป็นเหมือนแผนที่บอกเส้นทาง และวิธีการทำงาน รวมถึงผลลัพธ์ที่จะได้ในปลายทาง
                กรอบแนวคิดจะบอกผู้อ่านงานวิจัยของเราว่าเรามีภาพอะไรในหัว และเราทำภาพนั้นให้เป็นจริงได้อย่างไร และเกิดผลอะไรหลังจากการที่เราดำเนินการทำภาพนั้นให้เป็นจริงแล้ว กรอบแนวคิดที่ชัดเจนจะทำให้นักวิจัยได้ทุนวิจัยอย่างง่ายดาย กรอบแนวคิดประกอบด้วยส่วนต่างๆดังนี้

1. องค์ประกอบในการเขียนกรอบแนวคิด
                กรอบแนวคิดมักจะประกอบด้วย 3 ส่วน คือ
                1.1 ส่วนที่ 1 เป็นตัวแปร ปัจจัย หรือ สิ่งใด ๆ ที่เราจะใส่เป็นวัตถุดิบในงานวิจัย ที่เรียกว่า input
                1.2 ส่วนที่ 2 เป็นกระบวนการทดสอบ หรือ process
                1.3 ส่วนที่ 3 เป็นผลผลิตและผลลัพธ์
               
                อย่างไรก็ตาม น่าประหลาดใจว่า ส่วนสำคัญที่สุดในกรอบแนวคิดที่นักวิจัยส่วนมากจะไม่ค่อยเห็นค่าของมัน คือ ลูกศร    ลูกศร ที่ใช้ประกอบการวาดกรอบแนวคิดสำคัญมาก ลูกศรจะบอกทั้งตัวนักวิจัยและผู้อ่านว่าความสัมพันธ์ของแต่ละองค์ประกอบในกรอบแนวคิดเป็นอย่างไร อะไรเป็นสาเหตุ อะไรเป็นผล ผลที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร มีตัวแปร หรือ ปัจจัยใดสัมพันธ์กันอย่างไร ดังภาพที่ 1 ข้างล่างนี้

2. สิ่งที่ไม่ควรทำในการเขียนกรอบแนวคิด
     หลายครั้งที่ผู้เขียนได้อ่านงานวิจัยแล้วพบว่าในการเขียนกรอบแนวคิดนั้น มีบางสิ่งที่นักวิจัยไม่ควรทำ เช่น
     2.1 นำกรอบแนวคิดไปไว้ส่วนท้ายของงานวิจัย กรอบแนวคิดควรอยู่บทที่ 1 (ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา) หรือ บทที่ 3 (วิธีดำเนินการวิจัย)
               2.2 เขียนแต่กรอบแนวคิด แต่ไม่อธิบายว่าภายในกรอบแนวคิดนั้น มีสิ่งใดสัมพันธ์กันบ้าง อย่างไร เช่น ภาพที่ 1 ข้างต้น มีแต่กรอบแนวคิด แต่ไม่อธิบายความสัมพันธ์ของแต่ละส่วนในกรอบแนวคิดดังกล่าว


3. ตัวอย่างกรอบแนวคิดพร้อมคำอธิบาย
             ในส่วนคำอธิบายกรอบแนวคิด ควรประกอบด้วย 3 ส่วน คือ จุดเริ่มต้น กระบวนการ ผลผลิตและผลลัพธ์และการเขียนแสดงความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 3 ส่วนดังกล่าว เช่น

กรอบแนวคิดมีความสำคัญ เพราะกรอบแนวคิดเป็นเหมือนแผนที่นำทาง

กรอบแนวคิดจะแสดงความสัมพันธ์
ระหว่าง

จุดเริ่มต้น กระบวนการ ผลผลิตและผลลัพธ์


Tuesday, January 10, 2017

อายุเท่าไหร่ก็เป็นนักประดิษฐ์ได้ มา..มา..มา ประกวดสิ่งประดิษฐ์กัน ในวันนักประดิษฐ์แห่งชาติ พร้อมวิธีคิดในการสร้างสิ่งประดิษฐ์



        ทุกวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ ของทุกปี สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ ที่รู้จักกันสั้นๆ ว่า วช. ได้ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมผลักดันและพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยที่นำไปสู่การประดิษฐ์คิดค้นสำหรับนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทย เวทีประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับชาติที่ชื่อว่า "วันนักประดิษฐ์" จึงเกิดขึ้น 
        
สมัครอย่างไร
       ในช่วงราวๆ เดือนสิงหาคม ถึง ตุลาคม วช. จะประกาศรับสมัครสิ่งประดิษฐ์จากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศให้เข้าร่วมประกวดผ่านประกาศทางมหาวิทยาลัย วิทยาลัย โรงเรียน ฯลฯ รวมถึงหน้าเว็บไซต์ www.nrct.go.th และ www.inventorday.go.th 
      ผู้สมัครจะต้องกรอกข้อมูลสิ่งประดิษฐ์ลงแบบฟอร์มที่ทาง วช. เตรียมไว้ให้ เช่น แบบเสนอผลงานฯ ซึ่งผู้สมัครต้องกรอกข้อมูลว่า สิ่งประดิษฐ์นี้มีที่มาอย่างไร ประโยชน์ของสิ่งประดิษฐ์มีอะไรบ้าง เป็นต้น พร้อมแนบรูปภาพสิ่งประดิษฐ์
      จากนั้น ผู้สมัครจะต้องเลือกประเภทและกลุ่มเรื่องที่เสนอขอรับรางวั จากนั้นส่งข้อมูลทั้งหมดกลับไปยัง วช. ทั้งทางไปรษณีย์ และอีเมล์ ประเภทและกลุ่มเรื่องที่เสนอขอรับรางวัลมี 3 ประเภท ดังนี้


ประเภทและกลุ่มเรื่องที่เสนอขอรับรางวั
             
      มัธยมศึกษา  จะแบ่งสิ่งประดิษฐ์ออกเป็นประเภทย่อย ได้แก่
      ๑ สิ่งประดิษฐ์ด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน
      ๒ สิ่งประดิษฐ์ด้านเกษตรและอาหาร
      ๓ สิ่งประดิษฐ์ด้านการเรียนการสอนและการเรียนรู้
      ๔ สิ่งประดิษฐ์ด้านภูมิปัญญาไทย

      อาชีวศึกษา จะแบ่งสิ่งประดิษฐ์ออกเป็นประเภทย่อย ได้แก่
      ๑ สิ่งประดิษฐ์ด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน
      ๒ สิ่งประดิษฐ์ด้านเกษตร อาหาร และอุตสาหกรรมการเกษตร
      ๓ สิ่งประดิษฐ์ด้านการแพทย์และสาธารณสุข
      ๔ สิ่งประดิษฐ์ด้านคุณภาพชีวิต ศิลปะและการออกแบบ

      อุดมศึกษา จะแบ่งสิ่งประดิษฐ์ออกเป็นประเภทย่อย ได้แก่
      ๑ สิ่งประดิษฐ์ด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน
      ๒ สิ่งประดิษฐ์ด้านเกษตร อาหาร และอุตสาหกรรมการเกษตร
      ๓ สิ่งประดิษฐ์ด้านการแพทย์และสาธารณสุข
      ๔ สิ่งประดิษฐ์ด้านคุณภาพชีวิต ศิลปะและการออกแบบ
      ๕ สิ่งประดิษฐ์ด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี


เกิดอะไรขึ้นหลังจากได้รับรางวัล
       เมื่อได้รับรางวัล เราจะมีสิทธินำสิ่งประดิษฐ์ขึ้นบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทย เพื่อให้บริษัท หรือ ภาคเอกชนที่สนใจสิ่งประดิษฐ์ของเราได้ติดต่อประสานในการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ให้เกิดประโยชน์กับสังคมหรือประเทศชาติต่อไป

       นอกจากนั้น เรายังมีสิทธินำสิ่งประดิษฐ์เข้าประกวดในเวทีระดับนานาชาติต่าง ๆ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาส สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเป็นช่องทางหนึ่งในการสร้างโอกาสแก่นักวิจัยและนักประดิษฐ์ของไทย สําหรับการรับรองมาตรฐานแก่ผลงานประดิษฐ์คิดค้น เพื่อพัฒนาสู่การตลาดและเชิงพาณิชย์ 

       ในงานระดับนานาชาตินี้ ประเทศต่างๆที่เป็นสามาชิกใน World Innovation and 
Intellectual Property Association (WIIPA) จะเป็นเจ้าภาพเวียนกันจัดงานตลอดทั้งปี ได้แก่ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ประเทศมาเลเซีย ประเทศไต้หวัน ประเทศโปแลนด์ ประเทศเกาหลี เป็นต้น ข้างล่างเป็นตัวอย่างภาพในการประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติที่เมืองเกาสง ประเทศไต้หวัน ซึ่งจะจัดช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี
ภาพที่ 1 ตัวอย่างการประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติที่เมืองเกาสง ประเทศไต้หวัน

ภาพที่ 2 ตัวอย่างการจัดแสดงสิ่งประดิษฐ์จากประเทศต่างๆ


สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการประกวดระดับนานาชาติ
       1. ครูสำคัญมากในการผลักดัน (drive) ลูกศิษย์ ครูที่คิดเป็น ทำเป็น และสร้างคนเป็น จะทำให้เกิดเด็กๆที่มีความเป็นนักประดิษฐ์ที่มีคุณภาพ และครูจะสามารถสร้างให้เด็กเป็นนักตั้งคำถามที่มีคุณภาพด้วย 
           ยกตัวอย่าง โรงเรียนจุฬาภรณ์ (ปทุมธานี) มีวิชาพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียน โดยครูผู้สอนจะวัดความคิดสร้างสรรค์ของเด็กๆก่อนเรียน จากนั้นให้นักเรียนคิดงานวิจัยผ่าน theme ที่กำหนดขึ้น และครูเปิด fb ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้นักเรียนได้ปรึกษาระหว่างทำงานวิจัย ครูทุ่มเทขนาดที่ว่าลูกศิษย์ต้องการไปข้อมูลใหม่ๆอะไรให้บอกครู ครูจะเป็นคนพาไปดูให้เห็นของจริงด้วยตนเอง
           หรือ อีกกรณีหนึ่ง มีนักประดิษฐ์จากประเทศฮ่องกง ที่เป็นนักเรียนระดับประถม สามารถเดินมาถามที่บูธนักประดิษฐ์ที่เป็นระดับอาจารย์ในประเทศไทยได้ว่า "What is your rationale in creating this?" / "Why did you do this?" ทำให้ทราบทันทีว่าครูที่สอนเด็กกลุ่มนี้คงจะไม่ธรรมดา สามารถผลักดันให้เด็กระดับประถมสามารถตั้งคำถามแบบ critical ได้

       2. อายุ ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญสำหรับการสร้างสิ่งประดิษฐ์หรือทำวิจัย อายุเท่าไหร่ก็เป็นนักประดิษฐ์ได้ ในงานระดับนานาชาติมีนักประดิษฐ์ตั้งแต่ระดับประถม จนถึง ระดับศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัย เข้ามาร่วมแข่งขัน 
          เด็กประถมจากประเทศฟิลิปปินส์สามารถคิดสบู่กันเชื้อราได้ หรือ ศาสตราจารย์จากประเทศไต้หวัน ผู้คิดค้นกระดาษจากก้อนหินที่วางขายและใช้ได้จริง ดังภาพที่ 3 เป็นต้น

ภาพที่ 3 กระดาษที่ทำจากหิน (Paper made from stone)

       3. เทคนิคการนำเสนอ มีความสำคัญ ก่อนนำเสนอ นักประดิษฐ์ต้องคิดว่า ผู้เข้าชมต้องการทราบอะไร แล้วนำเสนอให้ตรงประเด็น ประเด็นต่างๆ ที่ควรนำเสนอ ได้แก่ สิ่งประดิษฐ์นี้มีหน้าตา และคุณสมบัติอะไร มีประโยชน์กี่ข้อ อะไรบ้าง (ต้องมีผลการวิจัยรองรับ) สิ่งประดิษฐ์นี้สามารถสร้าง Value Added อย่างไร
           ในงานที่มีผู้เข้าชมจำนวนมากแบบนี้ หรือ ในการแสดงนิทรรศการ จะไม่มีใครมายืนอ่านตัวหนังสือ ทุกคนจะดูภาพ และตั้งคำถามถามในสิ่งที่ตัวเองอยากรู้ 
           ดังนั้น  การนำเสนอโปสเตอร์ควรประกอบด้วยภาพเป็นหลัก คำบรรยายควรมีให้น้อย ที่สำคัญ อย่าลืมบอกว่าสิ่งประดิษฐ์นี้มีประโยชน์อย่างไรโดยต้องมีฐานคิดจากงานวิจัย (based on งานวิจัย) เช่น กระดาษที่ทำจากหินเพียง 1 แผ่น สามารถลดก๊าซคาร์บอนฯได้ 900 กิโลกรัม (ผ่านการทดลองหรือการทำวิจัยมาแล้ว) ลดการตัดไม้ทำลายป่าได้ 100 ต้น เป็นต้น

      4. ปัจจุบันนี้ ไม่มีการแบ่งสายวิทย์ หรือ ศิลป์ แล้ว เนื่องจากทุกศาสตร์สามารถบูรณาการเข้าด้วยกันได้ทั้งหมด 
          ในการประกวดระดับนานาชาติจึงไม่มีการแบ่งสิ่งประดิษฐ์ออกเป็นสิ่งประดิษฐ์สายวิทยาศาสตร์ หรือ ภาษา หรือ ศึกษาศาสตร์  ทุกสาขาจะต้องแข่งรวมกัน  

          สำหรับคนที่อยู่สายภาษา สามารถสร้างสิ่งประดิษฐ์ได้เช่นกัน เช่น มีนักวิจัยสร้างแอพลิเคชั่นฝึกออกเสียงภาษาไทยบนมือถือ (Thai Tone App.) แต่แอพลิเคชั่นนี้ต้องแตกต่างจากที่มีตามท้องตลาด คือ ต้องประกอบด้วยคำที่วิจัยออกมาแล้วว่าเป็นปัญหาสำหรับผู้เรียน ไม่ใช่อยากใส่คำอะไรลงในแอพลิเคชั่นก็ใส่ได้ แต่ต้องทำวิจัยออกมาก่อนว่ามีคำใดบ้างที่ผู้เรียนควรฝึกเป็นพิเศษ เช่น ต้องฝึกออกเสียงคำที่มีวรรณยุกต์เอกกับโทให้มากในคนจีน ในแอพลิเคชั่นก็อาจจะมีแต่แบบฝึกหัดที่ให้ผู้เรียนได้ฝึกออกเสียงวรรณยุกต์เอกกับโท เป็นหลัก   นอกจากนั้น ยังมีสิ่งประดิษฐ์อีกมากมายที่คนสายมนุษยศาสตร์ได้สร้างขึ้น เช่น Thai Writing Application ของ ศาสตราจารย์ ดร.อภิลักษณ์ ธรรมทวีธิกุล ฯลฯ

          คำถามสำคัญที่ควรถามก่อนสร้างสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนทางสายศิลปศาสตร์ หรือ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คือ 
          1. ทำไมต้องทำ ทำให้ใคร ใครจะใช้ประโยชน์ เช่น จะสร้างสิ่งประดิษฐ์ให้นักเรียนบนดอย ตามความต้องการของผู้บริหารสถานศึกษาที่ร้องขอมา  เหตุผลจะต้องไม่ใช่ว่าเราสร้างสิ่งประดิษฐ์ตามความต้องการของเราเอง เพื่อจะได้ส่งเข้าประกวด อย่างนี้คงเป็นวิธีคิดที่ใช้ไม่ได้
          2. ทำแล้วสิ่งนี้จะแตกต่างจากที่มีในท้องตลาดอย่างไร เช่น แบบฝึกหัดของเราสร้างจากงานวิจัยที่มีคนทำไว้ หรือ ที่เราเคยทำวิจัยไว้ เช่น เคยทำวิจัยคำศัพท์ญี่ปุ่นที่ปรากฏมากในบริษัทคูบาโต้ เราสามารถนำคำศัพท์เหล่านั้นมาใส่ในสิ่งประดิษฐ์ของเราได้
          3. ข้อจำกัดของสิ่งประดิษฐ์นี้คืออะไร และ จุดแข็งของสิ่งประดิษฐ์นี้มีอะไรบ้าง  เพื่อจะได้คิดต่อว่าจะพัฒนาจุดแข็งต่อไปอย่างไร และจะลดข้อจำกัดของสิ่งประดิษฐ์ด้วยวิธีไหน เช่น สร้างสิ่งประดิษฐ์ให้นักเรียนบนดอย แต่จะใช้งานสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวได้ต้องต่ออินเตอร์เน็ต อย่างนี้คงไม่เหมาะสมกับบนดอยซึ่งเป็นพื้นที่ที่สัญญาณอินเตอร์เน็ตไม่แรง เป็นต้น แต่เราอาจจะสามารถพัฒนาสร้างแอพลิเคชั่นออกมาก่อนได้ จากนั้น ค่อยหาวิธีแปลงไฟล์ให้เป็นนามสกุล .exe ที่ไม่ต้องต่อเชื่อมอินเตอร์เน็ต เป็นต้น
          4. การพัฒนาไปสู่เชิงพาณิชย์จะทำอย่างไร เนื่องจากประเทศไทยต้องการนวัตกรรมใหม่ๆในการสร้างเศรษฐกิจให้ก้าวพ้น "กับดักรายได้ปานกลาง" หรือ "Middle Income Trap" ดังนั้น คำถามข้อนี้จึงสำคัญมาก 
            นักวิจัยหรือนักประดิษฐ์สามารถประสานงานกับบริษัทหรือหน่วยงานเอกชนใ้หเข้ามามีส่วนร่วมกันพัฒนางานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ต่อ โดยผ่านองค์กร เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ ที่รู้จักกันในชื่อ สกว. โดยติดต่อ ฝ่ายอุตสาหกรรม หรือ ฝ่าย R2Biz  จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการผลักดันงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ให้เข้าสู่นวัตกรรมเชิงพาณิชย์  


อย่าลืมนะคะสายมนุษยศาสตร์ก็สร้างสิ่งประดิษฐ์ได้ 
ขอเพียงลงมือทำ เท่านั้น

Friday, January 6, 2017

ResearchJung: Thailand 4.0 ฉบับย่อ by phanin099

ResearchJung: Thailand 4.0 ฉบับย่อ by phanin099:           ในปี 2559 รัฐบาลได้ประกาศให้ประเทศไทยมุ่งสู่การเป็น Thailand 4.0 อย่างสุดกำลัง โดยต้องพัฒนาคนและงานวิจัยเชิงสร้างสรรค์เพื่อผลักดัน...

Tuesday, January 3, 2017

เมื่อได้ยินแล้ว ฟังด้วย

       


         มีน้องๆ ต้องการคำปรึกษาเข้ามามากในประเด็นที่ว่า แม่อยากให้เรียนมหาวิทยาลัยใกล้บ้าน แต่น้องอยากเข้าไปเรียนในกรุงเทพฯ  กระทั่งทะเลาะกับแม่จนเป็นเรื่องราวใหญ่โต

         เคยไหมคะที่...เวลาเรารู้สึกว่าต้องการอะไรบางอย่างมากๆ เราจะไม่ฟังเสียงคนรอบข้าง คำว่า  "ฟัง" ในที่นี้ไม่ได้แปลว่า "ได้ยิน"  ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่น้องทะเลาะกับแม่เรื่องสถานที่เรียนต่อ ข้างต้น

         ถ้าเรา "ได้ยิน" เราจะรู้สึกว่าแม่มีแต่คำพูดว่า  "จงเรียนใกล้บ้าน สะดวกดี ปลอดภัย และประหยัด"

         แต่ถ้าเรา "ฟัง"  เราต้องคิดต่อว่า "ทำไมแม่พูดเช่นนั้น" หรือ "ทำไมแม่ต้องให้เราเรียนใกล้บ้าน" เมื่อค้นหาคำตอบ อาจจะพบว่า แม่กำลังเครียดเรื่องเศรษฐกิจการเงินในบ้าน (หรือเปล่า) การเรียนใกล้บ้านจึงดีกว่าไปเรียนไกลบ้าน เพราะช่วยแม่ประหยัดค่าใช้จ่าย ทำให้แม่พอจะมีเงินเหลือส่งน้องเรียนได้อีกหลายเทอม หรือ มันจะช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายประจำวัน ทุกคนในบ้านจะได้ไม่ต้องรัดเข็มขัด หรือ อดมื้อกินมื้อ เป็นต้น
     
         การต้องทำงานเพื่อหาเงินส่งลูกเรียนในแต่ละปีเป็นเรื่องหนักหนามากสำหรับคนเป็นพ่อแม่  แต่ลูกจะไม่ค่อยรู้ เพราะส่วนใหญ่คนเป็นพ่อแม่จะไม่อธิบายให้ลูกฟัง เพราะคิดว่าลูกเด็ก พูดไปก็คงไม่เข้าใจ (ซึ่งจริงๆอยากจะบอกคนเป็นพ่อแม่ด้วยว่า อย่าคิดแทนลูก ลูกไม่ใช่เด็กตลอดเวลา บางเรื่องลูกพร้อมจะเข้าใจ แค่อธิบายให้เค้าฟัง)

          ส่วนในด้านของคนเป็นลูก  ถ้าเรา "ได้ยิน" เพื่อที่จะ "ฟัง" เราจะคิดได้ลึกซื้งขึ้น มองในมุมของแม่มากขึ้น การเรียนคณะที่เราใฝ่ฝันแต่เรียนอยู่ใกล้บ้าน ก็อาจไม่เลวนักสำหรับตัวเราและครอบครัว

         นานมาแล้ว ทุกคน (ที่ตอนนี้อายุ 25 ปี ขึ้นไป) เคยเป็นเด็ก เวลาไปเที่ยวกับเพื่อนแล้วกลับดึก พ่อแม่จะดุจะด่า และ "ห้ามไปอีก" เพียงแค่ได้ยินเสียงห้ามไม่ให้เที่ยวของพ่อแม่ทำให้เรามีอารมณ์โกรธ แต่เมื่อหวนนึกถึงช่วงเวลาเหล่านั้น ถ้าเรา "ฟัง" พ่อแม่ดีๆ เราจะเข้าใจว่าทำไมถึงโดนห้ามไม่ให้ออกไปเที่ยวกลางคืน เพราะ 1.เสี่ยงอุบัติเหตุ 2.เสี่ยงถูกหลอก 3.เสียการเรียน 4.เสียสุขภาพ ฯลฯ

         แต่สรุปแล้ว พ่อแม่รักเราและเป็นห่วงมากไม่อยากให้เกิดอันตรายใดๆ  ขึ้นกับเรา
         
         มีผู้บริหารระดับสูงในบริษัทชื่อดังมากมายที่อยากจะบอกน้องๆ ว่า บางครั้งองค์กรไม่ได้ต้องการคนจบตรงสายนักหรอก คนเราพัฒนากันได้ ยิ่งสมัยนี้เรียนรู้ได้หลากหลายช่องทาง แต่องค์กรต้องการคนที่คิดเป็น ทำได้ เปิดใจกว้างพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และไม่ใช่แค่คิดแก้ปัญหาเป็น แต่ต้องคิดสิ่งใหม่ๆ เป็นด้วย ทัศนคติและความพร้อมที่จะพัฒนาตัวเองเป็นเรื่องแรกๆ ที่องค์กรจะให้ความสำคัญ

          เอาไว้รอผู้บริหารระดับสูงในบริษัทมาบอกรายละเอียดใน blog นี้ เอง อีกทีนะคะ


อย่าลืม  "ฟัง"   ให้มาก  ไม่ใช่แค่    "ได้ยิน"  


อันนี้ไม่ได้บอกแค่เด็กๆค่ะ แต่ฝากไปถึงผู้ใหญ่ด้วย....
       
       
     



Thursday, December 29, 2016

ความหมายของคำว่า เข้าใจ



เวลาครูถามเราว่า "เข้าใจ ที่ครูสอนหรือยัง"
นักเรียนมักจะตอบว่า "เข้าใจแล้ว" 

แต่จะมีสักกี่คนที่ตอบครูว่า "เข้าใจแล้ว"  เข้าใจ คำว่า "เข้าใจ" อย่างแท้จริง

เรามีชีวิตอยู่จนทุกวันนี้ พูดคำว่า "เข้าใจ" มาก็หลายครั้ง แต่เคยคิดบ้างหรือไม่ว่า เราอาจจะไม่เคย "เข้าใจ" อะไรจริงๆเลยสักเรื่องเดียวก็ได้  แม้แต่ตัวเราเอง

"เข้าใจ" เกิดจากคำกริยา "เข้า" บวกกับ คำนาม "ใจ" ประกอบกันขึ้นเป็นคำว่า "เข้าใจ" แล้วคำนี้หมายถึง อะไรกันแน่

ถ้าเราลองถามนักเรียนว่ารู้จักมะเขือเทศหรือไม่ นักเรียนจะตอบว่า "รู้จัก"
ต่อมา  เราลองถามให้นักเรียนอธิบายว่ามะเขือเทศ มีลักษณะอย่างไร นักเรียนจะอธิบายว่าเป็นผลกลม สีแดง ติดก้านเล็กๆสีเขียว  และถ้าให้นักเรียนวาดรูปมะเขือเทศ นักเรียนจะวาดออกมาตามที่พวกเขาได้อธิบายออกไป ซึ่งคนฟังที่แม้จะไม่เคยเห็นมะเขือเทศมาก่อนเมื่อเห็นภาพที่นักเรียนวาดพร้อมคำอธิบายก็จะเข้าใจได้ว่ามะเขือเทศมีหน้าตาอย่างไร

นี่คือ "ความเข้าใจ"

ถ้าเราลองถามนักเรียนว่าเข้าใจความรักของพ่อกับแม่หรือไม่   ถ้าพวกเขาตอบว่า "เข้าใจ"
ต่อมา เราลองให้เขาอธิบายความรักของพ่อกับแม่  พร้อมนึกภาพตาม แล้ววาดเป็นรูปออกมา  ถ้าพวกเขาอธิบายไม่ได้ แสดงว่า ไม่เข้าใจ  และถ้าแสดงออกมาเป็นภาพไม่ได้หรือนึกเป็นภาพในหัวไม่ได้ แสดงว่า ไม่เข้าใจ อีกเช่นกัน

ดังนี้ความเข้าใจ จึงหมายถึง การที่เราสามารถเห็นภาพสิ่งนั้นในหัวเราอย่างชัดเชน และสามารถอธิบายความเชื่อมโยงของสิ่งนั้นกับสิ่งต่างๆออกมาให้คนอื่นเห็นภาพตามได้ด้วย

หลายครั้ง มีคนมานั่งระบายว่า "การพี่ที่ต้องดุพนักงานฝ่ายการเงิน เพราะพนักงานคนนั้นอธิบายระเบียบได้แย่มาก เข้าใจพี่ใช่ไหม"  แล้ว เราตอบว่า "เข้าใจค่ะพี่"

ถ้าจะเช็คความเข้าใจของเราว่าเราเข้าใจผู้พูดตามที่เราได้บอกออกไปจริงหรือไม่

ให้เราลองถามตัวเองว่า เราเห็นภาพเชื่อมโยงระหว่าง สาเหตุของการดุพนักงานการเงิน วิธีการพูดดุด่า หน้าตาของพนักงานฝ่ายการเงินขณะโดนดุ ผลลัพธ์ที่ตามมาหลังจากเกิดเหตุการณ์นั้น ความรู้สึกของทั้งคนดุและคนถูกดุ รวมถึงบรรยากาศที่เกิดขึ้น หรือไม่   ถ้าเราไม่เห็นภาพนั้นในหัว นั่นแปลว่า

เรา "ไม่เข้าใจ"

คำว่า "เข้าใจ" จึงมีความหมาย "ลึกซึ้ง" มากกว่าที่เราใช้ตอบกันแบบผ่านๆไปอย่างทุกวันนี้

            “ลองตั้งคำถามกับตัวเองดูว่ามีเรื่องที่เราเข้าใจจริงๆอยู่สักเท่าไหร่ แม้แต่เรื่องที่เราคิดว่า เราเข้าใจ เราอาจจะไม่เคยเข้าใจมันเลยก็เป็นได้“








Thursday, December 15, 2016

รายการอ้างอิง (References) กับ บรรณานุกรม (Bibliography) ต่างกันอย่างไร??





              หลายครั้งที่ตรวจงานวิจัยของนิสิตและนักศึกษา แล้วจะต้องอธิบายว่า รายการอ้างอิง (References) กับ บรรณานุกรม (Bebliography) นั้นไม่เหมือนกัน

              รายการอ้างอิง หรือ References คือ รายการอ้างอิงตรงส่วนท้ายเล่มงานวิจัยที่ต้องตรงกับเอกสารทุกเล่มทุกชิ้นที่เราอ้างอิงไว้ในเนื้อหา (in-text citation) ทุกเล่ม เช่น  ใน in-text citation มี 4 เล่ม ดังนี้

                ในส่วนอ้างอิงต้องมีรายการทั้ง 4 เล่มตรงกันกับในเนื้อหาข้างต้นด้วย ดังนี้

              แต่ถ้าเป็นการเขียนบรรณานุกรม ในส่วนบรรณานุกรมต้องมีทั้ง 4 เล่มให้ตรงกับที่อ้างอิงในเนื้อหา (in-text citation) ข้างต้น บวกกับ ที่เราอ่านเพิ่มเติม แต่ไม่ได้ปรากฏในเนื้อหา ด้วย  ดังนี้

                 นั่นคือ มี 4 เล่ม ที่ตรงกับที่เราอ้างในเนื้อหา และมีเล่มที่ 5 ที่เราอ่านเพิ่มเติมด้วย 


บรรณานุกรมจึงมีจำนวนมากกว่ารายการอ้างอิง  
และมีสูตร 
คือ
บรรณานุกรม = รายการอ้างอิง + เอกสารที่เราอ่านเพิ่มเติม

เห็นไหมคะ งานวิจัยไม่ยากอย่างที่คิด แต่ต้องละเอียดรอบคอบเท่านั้นเอง


Saturday, December 3, 2016

วิธีเขียนประโยชน์ของงานวิจัยให้แกรนด์





เวลาที่เราขอทุนวิจัย หรือ ทำวิทยานิพนธ์ หรือ งานวิจัยใดๆ สักชิ้นหนึ่ง นักวิจัยจะต้องตระหนักว่างานวิจัยที่กำลังดำเนินการนี้มีประโยชน์ต่อผู้อื่นและต่อตนเองอย่างไร (เน้นว่าต้องให้ประโยชน์คนอื่น และเพื่อตัวเองไปพร้อมๆกัน คนอื่นได้ประโยชน์นักวิจัยจะมีความสุข ส่วนการทำเพื่อตัวเองเพื่อต่อยอด passion ให้มีแรงทำวิจัยต่อไปเรื่อยๆ รวมถึงหาเลี้ยงชีพ)

ปัจจุบันนี้งานวิจัยต้องระบุให้ได้ว่าประโยชน์จากงานวิจัย คือ อะไร เพราะส่วนนี้จะมีผลต่อการตัดสินทุนวิจัย ส่วนมากนักวิจัยใหม่ๆ จะเขียนแบบนี้ค่ะ

สมมติมีงานวิจัยหนึ่ง ชื่อ

ชื่องานวิจัย : ปัจจัยที่มีผลต่อการ drop out ของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย XXX

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ :  (ไม่ควรเขียน)
1. ได้ทราบถึงปัจจัยที่มีผลต่อการ drop out ของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย XXX
2. เพื่อทราบวิธีแก้ไขปัญหาต่อไป

การใช้คำว่า  ได้ทราบ   เพื่อทราบ   จะไม่ทำให้ผู้อ่าน หรือ กรรมการตัดสินทุน หรือ กรรมการสอบวิทยานิพนธ์เห็นภาพ  เพราะเมื่อเราทำวิจัยผลที่ตามมาคือได้ทราบ หรือ ได้เรียนรู้ อยู่แล้ว  แต่สิ่งที่นักวิจัยควรเขียนจะต้องเป็นแบบนี้ค่ะ

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ  :  (ควรเขียน)
1. นำผลการวิจัยไปสร้างนโยบายบริหารงานวิชาการของคณะศิลปศาสตร์เพื่อป้องกันการ drop out ของนักศึกษา
2. ผลการวิจัยนำไปใช้ระบุวิธีแก้ปัญหาให้กับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยอื่นๆได้

แบบถึงจะเรียกว่าเป็นประโยชน์ที่ดี และประโยชน์จากงานวิจัยจะต้องเป็นไปได้ด้วยนะคะ  ถ้าเป็นไปไม่ได้ ห้ามเขียนลงไปค่ะ มิเช่นนั้นจะเหมือนเราโกหกคนอื่น

อีกสักตัวอย่างนะคะ

สมมติมีงานวิจัยหนึ่ง ชื่อ

ชื่องานวิจัย  :  การวิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างความหมายคำว่า produce กับ create ด้วยคลังข้อมูล

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ :  (ไม่ควรเขียน)
        ได้ทราบถึงควาแตกต่างของความหมายคำว่า produce กับ create

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ  :  (ควรเขียน)
         นำผลการวิจัยไปสร้างแบบฝึกหัดเกี่ยวกับการใช้ synonym ให้กับผู้เรียนภาษาอังกฤษ

เห็นความแตกต่างไหมคะ

ประโยชน์ของงานวิจัยจะต้องเป็นมากกว่าการได้รู้ ได้เรียน ได้ทราบ ได้พิสูจน์  นักวิจัยจะต้องคิดต่อให้ได้ว่า


"เมื่องานวิจัยของเราเสร็จแล้ว  เราจะเอาไปทำอะไรต่อ 
จะเอาไปสร้างอะไรให้ใคร  
ใครเอางานเราไปใช้ทำอะไรได้บ้าง อย่างไร"


งานวิจัยง่ายมากใช่ไหมคะ แต่ต้องคิดเยอะ  รอบคอบ  และนอกกรอบ  แค่นั้นเอง